Monday, September 16, 2013

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทางเลือกในการดูแลสุขภาพ

รูปแบบชีวิตในยุคสมัยนี้ ทำให้เราต้องหาตัวช่วยมาเสริมสร้างสมดุลเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี ด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ที่ปัจจุบันได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน และยังมีมากมายหลากหลายยี่ห้อ พร้อมคำถามที่ชวนให้สงสัย ว่าจำเป็นไหมที่ต้องรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แล้วเมื่อรับประทานเข้าไปจะสะสมตกค้างหรือไม่ และเหตุใดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพสำหรับคนในยุคที่ชีวิตต้องเร่งรีบ อาวียองซ์ อะคาเดมี จึงได้เชิญ พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย มาไขความกระจ่าง พร้อมให้คำแนะนำทริคดีๆ เกี่ยวกับวิธีการเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ถูกต้อง


แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ผู้แปลหนังสือขายดี เช่น วิตามิน ไบเบิ้ล และ สุขทุกลมหายใจ พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล เผยว่า “จากบทความทางการแพทย์ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA ปี 2002 พบว่าชาวอเมริกันจำนวนมากมีระดับวิตามินในเลือดต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งมีปัจจัยมาจาก มีคนจำนวน 20-30% เท่านั้นที่สามารถทานผักผลไม้ ซึ่งเป็นแหล่งวิตามินต่างๆ ได้ครบ 5 หน่วยบริโภคต่อวันตามที่แพทย์แนะนำ ต่อมาลักษณะของอาหารในทุกวันนี้ ที่ผลิตขึ้นตามกระบวนการอุตสาหกรรม อย่างอาหารกระป๋องหรืออาหารแช่แข็ง ประกอบกับการขนส่งยังใช้เวลานานกว่าจะถึงผู้บริโภค ทำให้ปริมาณวิตามินที่อยู่ในผักผลไม้เหลือไม่มาก และปัจจุบันคนส่วนใหญ่นิยมทานอาหารที่ปรุงสำเร็จนอกบ้าน ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดความเสื่อมต่อสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงเป็นทางเลือกจำเป็นในผู้ที่มีโอกาสได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ มีปัญหาเรื่องการดูดซึม การเจ็บป่วยเรื้อรัง และในผู้สูงอายุ


ดังนั้น ก่อนที่เราจะรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ก็ควรที่จะต้องรู้จักว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น เป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง ที่ไม่ใช่การทดแทนการรับประทานอาหารให้ครบมื้อที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้ แต่เสริมให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น และไม่ใช่ยารักษาโรค โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะรับประทานเพื่อความปลอดภัย  เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในท้องตลาดปัจจุบันมีทั้งวิตามินรวมและแร่ธาตุ สมุนไพร พวกสารต้านอนุมูลอิสระ เส้นใยอาหารต่างๆ ดังนั้น เราจึงควรรู้ว่าในวิตามินหรือแร่ธาตุแต่ละตัวนั้น ช่วยเสริมในด้านใดบ้าง


ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ควรจะเลือกดูว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผ่านการรับรองความปลอดภัยจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมที่แนะนำต่อวัน (RDI) เพื่อป้องกันการสะสมในร่างกาย พร้อมกันนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอในกรณีที่มีโรคประจำตัว หรือมียาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ สำคัญสุดคือต้องศึกษาหาข้อมูลก่อนเสมอว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นๆ จำเป็นแค่ไหน มีผลข้างเคียงหรือไม่ โดยควรตรวจสอบให้แน่ใจเพื่อไม่ก่อให้เกิดอันตราย

ควรเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เหมาะกับตัวเอง เพื่อฟื้นฟูปัญหาสุขภาพได้อย่างตรงจุด และต้องนึกถึงความปลอดภัย อย่าคิดว่ายิ่งกินมากยิ่งดี และที่สำคัญควรออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ เพื่อปกป้องร่างกายสุขภาพดีจากภายใน เพราะชีวิตจะไม่มีความหมาย หากไร้สุขภาพดีเป็นพื้นฐาน”


มาร่วมเรียนรู้ถึงเรื่องวิตามิน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือแบบที่ละลายในน้ำ ได้แก่ วิตามินซีและวิตามินบี และที่ละลายในไขมันได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค และวิตามินมีอะไรบ้าง และช่วยในเรื่องใดบ้างนั้นมาดูกัน


  • วิตามินเอ ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง บำรุงสายตา สร้างภูมิต้านทานในระบบหายใจ ลดการอักเสบของสิว และยังลดเลือนจุดด่างดำ พบมากในผักและผลไม้สีเหลือง ส้ม แดง  และเขียวเข้ม ตับ เนย ไข่แดง นมสด และหอยนางรม ร่างกายคนเราต้องการเพียงวันละ 900 ug
  • วิตามินบี 1 ช่วยในการทำงานของระบบประสาทหัว และกล้ามเนื้อ เพิ่มการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ถ้าขาดจะเหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว และเหน็บชาตามมือและเท้า ซึ่งพบมากในธัญพืช ข้าวซ้อมมือ ถั่วต่างๆ งา และขนมปัง ร่างกายคนเราต้องการเพียงวันละ 1.2 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 ช่วยในการเผาผลาญไขมันและกรดอะมิโนทริปโตฟาน และยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของสีที่เรตินาของลูกตา ถ้าขาดก็จะทำให้การย่อยอาหารไม่เป็นปกติ และเป็นโรคปากนกกระจอก พบมากในยีสต์ ไข่ นมสด เนย เนื้อสัตว์ และผักใบเขียว ร่างกายคนเราต้องการเพียงวันละ 1.3 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 6 ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือด สร้างน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร และช่วยในการเผาผลาญโปรตีน รวมทั้งรักษาสภาพผิวหนังให้เป็นปกติ ถ้าขาดจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดอุดตันและโรคโลหิตจาง  พบมากในเนื้อสัตว์ ตับ ปลา กล้วย และผักต่างๆ คนเราต้องการเพียงวันละ 1.3 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 12 ช่วยให้ร่างกายนำไขมันคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน ไปใช้ได้อย่างสมบูรณ์ สร้างเม็ดเลือดแดง และช่วยในการทำงานของระบบประสาท พบมากในตับซึ่งมีวิตามินบี 12 มากที่สุด นม ไข่ และเนย คนเราต้องการเพียงวันละ 2.4 ug
  • วิตามินซี ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก การสร้างผิวหนัง กระดูก ฟัน และคอลลาเจน หากขาดจะติดเชื้อได้ง่าย และเป็นโรคเลือดออกตามไรฟัน พบมากในผลไม้ ผักสด โดยเฉพาะมะเขือเทศ ฝรั่ง และส้ม คนเราต้องการเพียงวันละ 90 มิลลิกรัม
  • วิตามินดี ช่วยดูดซึมและควบคุมปริมาณแคลเซียมในร่างกาย เสริมสร้างกระดูกและฟัน ถ้าขาดจะปวดข้อและกระดูก ปวดเมื่อย และเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน พบมากในไข่ ปลา น้ำมันตับปลา นม และเนย คนเราต้องการเพียงวันละ 15 ug
  • วิตามินอี ช่วยในการทำงานของระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ และกล้ามเนื้อ และป้องกันการแตกสลายของเยื้อหุ้มเซลล์ พบมากในน้ำมันพืชเมล็ดทานตะวัน ถั่วต่างๆ ผักสีเขียวปนเหลือง และมันเทศ คนเราต้องการเพียงวันละ 15 มิลลิกรัม
  • วิตามินเค ช่วยในการแข็งตัวของเลือด และยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระดูก ถ้าขาดจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด และส่งผลต่อระบบการดูดซึมในร่างกาย พบมากในบร็อคโคลี่ ผักกะหล่ำ ไข่แดง น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันตับปลา คนเราต้องการเพียงวันละ 120 ug
  • แคลเซียม ช่วยให้กระดูกแข็งแรง ห่างไกลโรคกระดูกพรุน ควบคุมน้ำหนักตัว และความดันโลหิต พบมากในนม เนย โยเกิร์ต ผักใบเขียว และปลาตัวเล็กที่กินได้ทั้งก้าง คนเราต้องการเพียงวันละ 1,000 มิลลิกรัม
  • โอเมก้า-3 มีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างและการทำงานของสมอง ตับ และระบบประสาท ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล พบมากในปลาน้ำลึกและปลาน้ำจืดบางชนิด เพื่อสุขภาพที่ดีเราไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินในปริมาณที่สูง แต่เน้นรับประทานให้ครบชนิดในปริมาณที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป

เมื่อรู้ถึงประโยชน์ของวิตามินแล้ว ก็ต้องฉลาดในการเลือกรับประทานด้วย เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดของการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดียิ่งกว่า.
โดย ไทยรัฐออนไลน์

No comments:

Post a Comment