Monday, September 16, 2013

“ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” หรือ “อาหารเสริม” เลือกอย่างไรคุ้มค่าและปลอดภัย



ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” หรือที่เคยเรียกกันในชื่อเดิมว่า “อาหารเสริม” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นที่สนใจในหมู่ชุมชนคนรักสุขภาพ ด้วยความหวังว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงยิ่งขึ้น หรือช่วยเสริมสร้างความงามให้สวยและดูอ่อนกว่าวัย หรือช่วยรักษาทรวดทรงให้สวยเพรียวลม ฯลฯ ด้วยความเชื่อและความหวังว่า สิ่งเหล่านี้จะมีคุณประโยชน์คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่สูญเสียไป หลายคนใช้แล้วได้ผลดี ในขณะที่อีกหลายคนเช่นกันใช้แล้วไม่ได้ผล จึงใคร่ขอเสนอแนวทางในการเลือกใช้ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” หรือ “อาหารเสริม” ไว้พอสังเขป ดังนี้

1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้ตามกฎหมายจัดให้เป็นกลุ่มเดียวกับอาหารและไม่ได้จัดว่าเป็นยา ทั้งนี้เพราะยังไม่มีการศึกษาหรือมีหลักฐานทางการแพทย์มายืนยันว่า ได้ผลดีและผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร? ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงเทียบได้เท่ากับอาหารทั่วไปที่เรารับประทานกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้เกิดพลังงาน ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และเสริมสร้างการเจริญเติบโตให้กับร่างกายของเรา ซึ่งไม่มีคุณสมบัติในทางยาที่ช่วยในการป้องกันหรือรักษาโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพที่พวกเราประสบกันอยู่

    2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้มักจะอาจมีการศึกษาหรือมีหลักฐานทางการแพทย์ที่ไม่ดีเพียงพอมายืนยันว่า ได้ผลดีและผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างไร? แต่อาจจะมีเฉพาะการศึกษาในสัตว์ทดลอง เช่น หนู ลิง หรือกระต่าย เป็นต้น ซึ่งการที่ได้ผลดีต่อสัตว์เหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนว่าจะใช้ได้ผลดีในมนุษย์ เพราะ “มนุษย์ไม่ใช่สัตว์” และถ้าได้ผลดีในมนุษย์ก็ควรมีการศึกษาในมนุษย์เพื่อยืนยันความสำเร็จของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนั้นที่ชัดเจนเสียก่อน

     อีกประเด็นหนึ่งก็คือผู้ผลิตหลายรายพยายามนำผลการศึกษามาอ้างอิงว่ามีการศึกษาในคนแล้ว ในเรื่องนี้ควรพิจารณาถึงจำนวนคนหรือที่นิยมเรียกว่า “จำนวนตัวอย่าง” ที่ใช้ในการศึกษานั้นๆ ด้วย เพราะการที่ได้ผลในคน 5-10 คน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลในทุกคน เพราะในอดีตมียาหลายชนิดที่จะเห็นผลชัดเจนก็ต่อเมื่อได้ใช้ในผู้ป่วยเป็นพันเป็นหมื่นคนแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ยาคลอแรมเฟนนิคอล ที่พบว่าเป็นพิษต่อเลือดชนิดรุนแรง และทำให้เสียชีวิตทุกราย ซึ่งพิษนี้จะพบในผู้ที่ใช้ยาเพียง 1 หรือ 2 รายเท่านั้น จากผู้ใช้ยาทั้งหมดประมาณหนึ่งหมื่นคน เป็นต้น ดังนั้นจำนวนคนที่ศึกษาจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรพิจารณาก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะคุณอาจจะเป็น “หนึ่งในหมื่น” ก็เป็นได้

     3. เมื่อมองในเชิงธุรกิจมีส่วนสำคัญทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้เป็นที่รู้จัก คุ้นเคย และเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวางทั้งทางโฆษณาตามสื่อต่างๆ และการขายตรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยแรงจูงใจทางธุรกิจเพื่อผลกำไรหรือส่วนแบ่งการตลาด ซึ่งส่งผลโดยตรงทำให้การถ่ายทอดข้อมูลแต่เฉพาะผลดี โดยที่ไม่ได้กล่าวถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้
     สรุปว่าการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเช่นอาหารไม่ใช่ยา ควรศึกษาถึงผลดีและผลเสียให้ครบถ้วน เพราะผู้ผลิตส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจโดยมีกำไรเป็นผลตอบแทน เพราะต้องการให้ได้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ดีมีประโยชน์กับสุขภาพจริงๆ ไม่ได้เป็นปัญหาเป็นพิษต่อตับ ไต หรืออวัยวะอื่นๆ ของร่างกายของเราที่ประมาณค่ามิได้ แถมยังต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง ตลอดจนความรู้สึกที่ถูกหลอก (แต่เฉยไว้ตามแบบไทยไทย) แต่ก็มีเหลือเล็ดรอดออกมาเป็นข่าวบ้างบางระยะ

    ในส่วนลึกของจิตใจที่เป็นเภสัชกรก็อยากให้มีการคิดค้นและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีมีประโยชน์กับสุขภาพร่างกายจริงๆ ออกมารับใช้สังคมให้มากขึ้นๆ จึงอยากฝากข้อคิดเหล่านี้ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณากันก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อย่างไรก็ตามถ้าคุณมีข้อสงสัยในเรื่องเล่านี้ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ครับ

“โครงการล้านคำถามเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกร โดบความร่วมมือของสภาเภสัชกรรม กับ อย.”

No comments:

Post a Comment